15 มิถุนายน 2568 – เว็บไซต์ข่าว Khmer Times ของกัมพูชา เผยแพร่แถลงการณ์จากสำนักงานรัฐมนตรีประจำสำนักเลขาธิการกิจการชายแดนกัมพูชา
ภายหลังการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย–กัมพูชา (JBC) ครั้งที่ 6 ณ กรุงพนมเปญ โดยสาระสำคัญของแถลงการณ์ได้สร้างความกังวลอย่างยิ่งในหมู่ประชาชนไทย เมื่อมีการยืนยันว่า “ทั้งสองฝ่าย” ตกลงที่จะใช้ แผนที่มาตราส่วน 1:200,000 ซึ่งเป็นแผนที่จากยุคอาณานิคมฝรั่งเศส ในการหารือและปักปันเขตแดนระหว่างกัน
การประชุม JBC ครั้งนี้ได้หารือใน 4 ประเด็นหลัก ได้แก่
1. การทบทวนรายงานการประชุมอนุกรรมการร่วมด้านเทคนิคไทย-กัมพูชา (JTSC) ครั้งที่ 4
2. การปรับปรุง TOR ปี 2546 เกี่ยวกับแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศ
3. การเตรียมส่งทีมลงพื้นที่เพื่อสำรวจเขตแดนจริง
4. แนวทางสำรวจพื้นที่ตอนที่ 6 ตามที่เคยหารือไว้ใน JBC ครั้งที่ 4 และการประชุมพิเศษปี 2552
อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่สร้างความไม่สบายใจอย่างยิ่ง คือ ถ้อยแถลงของ นายฬำ เจีย ประธานร่วมฝ่ายกัมพูชา ที่เสนอให้ฝ่ายไทยร่วมกันนำข้อพิพาทเกี่ยวกับดินแดน 4 แห่ง คือ
ปราสาทตาเมือนธม
ปราสาทตาเมือนโต๊ด
ปราสาทตาควาย
ช่องบก (มุมไบ)
ขึ้นพิจารณาต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) โดยฝ่ายกัมพูชา ย้ำชัดว่า หากไทยไม่ยอมรับอำนาจศาลโลก
กัมพูชาจะดำเนินกระบวนการตามกฎหมายฝ่ายเดียว และพื้นที่ทั้ง 4 แห่งนี้ จะไม่ถูกเจรจาในกรอบ JBC อีกต่อไป
นายฬำ เจีย ยังเน้นว่า ฝ่ายกัมพูชา “ยึดมั่นตาม MOU ปี 2543” และ “ข้อตกลงเดิมระบุให้ใช้แผนที่ 1:200,000” ซึ่งเป็นแผนที่ที่อ้างอิงจากสนธิสัญญาสยาม–ฝรั่งเศส ปี ร.ศ.122 และ ค.ศ.1907 พร้อมปฏิเสธการใช้แผนที่ที่ฝ่ายไทยจัดทำเอง พร้อมระบุว่า “เป็นต้นตอของความขัดแย้งต่อเนื่องทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต”
ขณะที่แถลงการณ์ดังกล่าวยังระบุว่า ฝ่ายไทยยอมรับกรอบการพูดคุยบนพื้นฐาน MOU 2543 และแผนที่ 1:200,000 เช่นเดียวกัน จนนำมาสู่เสียงวิพากษ์วิจารณ์ในไทยว่า อาจเป็นการเปิดช่องให้กัมพูชาหยิบยกแผนที่ยุคอาณานิคมมาใช้ในการพิพาทดินแดน
ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกันว่าจะจัดการประชุม JBC รอบถัดไปในเดือนกันยายน 2568
หมายเหตุ: แผนที่มาตราส่วน 1:200,000 ที่กัมพูชานำมาอ้างนั้น เคยเป็นประเด็นร้อนแรงในการตัดสินคดีเขาพระวิหารในอดีต
ซึ่งฝ่ายไทยหลายภาคส่วนเห็นว่า เป็นแผนที่ที่ขัดต่อหลักสันปันน้ำ และอาจทำให้ไทยเสียเปรียบในการเจรจาเขตแดน